Close

8 จุดฟันธงกล้องมือถือดีหรือห่วย

  1. ความละเอียดเซ็นเซอร์ (มากดีกว่าน้อย)

เป็นตัวเลขที่เราคุ้นตาเวลาซื้อมือถือ ในส่วนของเสป็กกล้องมักจะเขียนไว้ เช่น 8 ล้านพิกเซล 12 ล้านพิกเซล 20 ล้านพิกเซล

ประโยชน์ของตัวเลขความละเอียดนี้มี 2 อย่าง คือ

  •  ช่วยให้กล้องเก็บรายละเอียดของภาพได้มากกว่า เซ็นเซอร์ความละเอียดสูงก็จะมีความสามารถในการเก็บรายละเอียดของภาพได้ดีกว่าเซ็นเซอร์ความละเอียดตํ่า
  • หากนำรูปที่ได้จากกล้องเซ็นเซอร์ความละเอียดสูงไปขยายเป็นภาพขนาดใหญ่ จะสามารถขยายได้ขนาดใหญ่กว่าเซ็นเซอร์ความละเอียดตํ่า โดยที่ภาพยังมีความคมชัดอยู่ หรือหากขยายในขนาดเท่ากัน จะสังเกตได้ว่าภาพจากกล้องเซ็นเซอร์ความละเอียดสูง จะมีรายละเอียด สีสันที่ดีกว่า
  1. ขนาดเซ็นเซอร์ (ใหญ่ดีกว่าเล็ก)

เซ็นเซอร์จะเป็นตัวรับสัญญาณแสงเพื่อนำมาแปลงให้เป็นสัญญาณดิจิตอล เปรียบเสมือนฟิล์มในกล้องฟิล์มสมัยก่อน และจะส่งข้อมูลไปยังซิปประมวลผลเพื่อประมวลผลออกมาเป็นไฟล์ภาพ  เซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่จะมีพื้นที่ในการรับแสงมากกว่า เกิดความร้อนน้อยกว่า และสามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า และยังมีสัญญาณรบกวนหรือ noise น้อยกว่าด้วย  (noise จะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ในภาพ จะเห็นได้ชัดโดยเฉพาะเมื่อถ่ายภาพในที่แสงน้อยหรือถ่ายภาพเวลากลางคืน

  1. ขนาดพิกเซล (ใหญ่ดีกว่าเล็ก)

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือส่วนรับแสงขนาดเล็กที่เป็นองค์ประกอบหลัก และวางรวมตัวกันอยู่ในเซ็นเซอร์ จะทำหน้าที่รับแสงสะท้อนที่ส่งมาจากเลนส์ถ่ายภาพนำมารวมกันเพื่อสร้างภาพ ขนาดของพิกเซลนี้มีผลโดยตรงทั้งต่อความคมชัด รายละเอียด สีสันของภาพ ยิ่งขนาดของพิกเซลใหญ่มากเท่าใดก็สามารถรับแสงได้มากกว่า ทั้งในการถ่ายภาพเวลาปรกติ หรือถ่ายภาพในที่แสงน้อย ทำให้ภาพที่ได้สว่าง สดใสและคมชัดมากขึ้น  ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น โดยที่ยังเก็บรายละเอียดทั้งในส่วนสว่างและส่วนมืดเอาไว้ได้ดีกว่าเซ็นเซอร์ที่มีขนาดของพิกเซลเล็ก

  1. รูรับแสง (ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งดี)

ขนาดรูรับแสงของเลนส์ จะแสดงเป็นค่า f เช่น  f1.7 f2.0 f2.2  ตัวเลขนี้จะเป็นตัวกำหนดปริมาณแสงที่สามารถผ่านเข้าไปในเลนส์ได้ ตัวเลขน้อยหมายถึงเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง แสงจะสามารถผ่านเข้าไปได้มากกว่าตัวเลขมาก จะได้เปรียบทั้งการถ่ายภาพในสภาพแสงทั่วไปและสภาพแสงน้อย ดังนั้นควรเลือกเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างเอาไว้ก่อน เป็นที่น่าเสียดายว่ากล้องมือถือนั้นไม่สามารถปรับขนาดรูรับแสง และทางยาวโฟกัสได้แบบ Manual ดังที่เราใช้กันบนกล้อง DSLR และ ML เพราะข้อจำกัดในด้านขนาดเซ็นเซอร์, พื้นที่ในเครื่อง และตัวโมดูลกล้อง ที่ไม่สามารถขยับเขยื้อน หรือหมุนซูมเข้า-ออกได้เหมือนกับกล้องปกติ ทำให้ทางยาวโฟกัส และขนาดรูรับแสงบนกล้องมือถือจึงต้องถูกจำกัดไว้ที่ค่าใดค่าหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นค่าที่กว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บวกกับการใช้งานเลนส์รับภาพที่ส่วนมากมักเป็นเลนส์มุมกว้าง (Wide) ทำให้การถ่ายภาพวัตถุส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพชัดตื้นโดยอัตโนมัติ (หน้าชัด-หลังเบลอ) เพราะมีขนาดรูรับแสงที่กว้างมากๆ นั่นเอง แต่รูรับแสงขนาดกว้างก็มีข้อจำกัดในการผลิต เพราะมีความซับซ้อน และใช้ต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้รูรับแสงขนาดกว้างในระดับ F/1.6 F/1.มักพบเจอในมือถือเรือธงเท่านั้น  ดังนั้น สมาร์ทโฟนในปัจจุบันจึงต้องแข่งขันกันในเรื่องความกว้างของรูรับแสง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพได้ยอดเยี่ยมในทุกสถานการณ์

  1. ระบบกันสั่น (ois ดีกว่า eis)
  • OIS (Optical Image Stabilization)– ระบบกันสั่นแบบ OIS เป็นระบบกันสั่นที่ทำงานด้วยฮาร์ดแวร์กล่าวคือ ตัวเลนส์กล้องของสมาร์ทโฟนจะถูกยึดด้วยแกนกันสั่น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแบบ 3-4 แกน (3-4 Axis) ถ้าหากแกนกันสั่นยิ่งมีจำนวนมากก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยลักษณะการทำงานของระบบกันสั่นแบบ OIS คือ ถ้ามือถือเกิดสั่นไหวไปในทิศทางใด ตัวกันสั่นจะล็อกเลนส์ไว้ ณ จุดที่โฟกัสภาพ และขยับสวนทางกับทิศทางที่อุปกรณ์สั่นไหวไป เช่น ถ้าผู้ใช้ยกมือขึ้นถ่ายภาพแล้วกล้องสั่นไปทางขวา แกนกันสั่นก็จะขยับให้เลนส์กล้องมาทางซ้ายในระยะเท่าๆ กัน เพื่อหักล้างการสั่นไหวนั้นๆ และทำให้เลนส์นิ่งที่สุด ซึ่งในทางเทคนิคแล้วระบบกันสั่นแบบ OIS ถือว่ามีประสิทธิภาพดีกว่า EIS เพราะจะไม่ทำให้สูญเสียรายละเอียดของภาพ แต่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าค่อนข้างมากเช่นกัน
  • EIS (Electronic Image Stabilization)– ระบบกันสั่นแบบ EIS เป็นระบบกันสั่นที่ทำงานด้วยซอฟต์แวร์ กล่าวคือ แบรนด์ผู้ผลิตจะเขียนซอฟต์แวร์ให้ตัวกล้องสามารถวิเคราะห์ได้แบบ Real-Time ว่ารายละเอียดที่อยู่ในเฟรมภาพนั้นมีอะไรบ้าง และเมื่อผู้ใช้ต้องการกดถ่าย ซอฟต์แวร์ก็จะประมวลผลได้เองทันทีว่า มีการสั่นไหวเกิดขึ้นหรือไม่ สั่นไหวไปในทิศทางใด และต้องชดเชยการสั่นอย่างไรให้ได้ภาพที่ถูกต้อง ซึ่งการกันสั่นในรูปแบบนี้ก็ถือว่าเป็นกระบวนการตกแต่งภาพด้วยอย่างหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้จึงอาจทำให้ภาพที่ได้สูญเสียรายละเอียดไปบ้าง แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าหากสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นมีความละเอียดที่ค่อนข้างสูง และมีการเขียนซอฟต์แวร์ที่ดีก็เรียกได้ว่าน่าจะได้ภาพที่ไม่แพ้กันสั่นแบบ OIS เลยทีเดียว และที่สำคัญ ระบบกันสั่นแบบ EIS มีต้นทุนถูกกว่าอีกด้วย
  1. คุณภาพเลนส์ ความชัด

สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะมาพร้อมเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสคงที่ และส่วนมากจะเป็นเลนส์มุมกว้างที่มีทางยาวโฟกัสประมาณช่วงระยะที่ 20-35 มม. โดยเฉพาะกล้องหน้าสำหรับถ่ายเซลฟี่จะใช้เลนส์มุมกว้างที่มีทางยาวโฟกัสน้อยกว่ากล้องหลัง  ข้อดีของเลนส์มุมกว้างคือสามารถถ่ายภาพต่างๆได้หลากหลาย ครอบคลุมการถ่ายภาพแทบทุกประเภท แต่สิ่งที่ตามมาคือความบิดเบี้ยวของภาพที่เกิดจากเลนส์มุมกว้าง โดยเฉพาะหากถ่ายภาพในระยะใกล้ความบิดเบือนของภาพจะยิ่งมากตาม  สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ หลายรุ่น ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เลนส์  มีการใช้ชิ้นเลนส์คุณภาพสูงจากบริษัทผลิตกล้องและเลนส์ชั้นนำที่มีชื่อเสียง  เช่น  Leica, Carl Zeiss, Hasselblad, Sony G, Schneider-Kreuznach เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานว่าจะได้ภาพที่คมชัด มีรายละเอียดสูงและโทนสีที่เป็นธรรมชาติ  ไม่แพ้ภาพที่ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพอย่าง DSLR หรือ Mirrorless  มีสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มาพร้อมเลนส์ซูมแบบ Optical Zoom ที่สามารถซูมภาพได้ด้วยการใช้เลนส์ซูมโดยไม่สูญเสียรายละเอียดเหมือนกับการใช้ Digital Zoom เช่น Samsung Galaxy K-Zoom , Asus ZenFone Zoom

ปัจจุบันยังมีการนำเทคโนโลยีกล้องคู่ Dual Camera เพื่อใช้ถ่ายภาพ 3 มิติ และดูภาพได้โดยตรงที่จอสมาร์ทโฟน  (ที่ใช้ใน LG Optimus 3D) หรือเลนส์ชุดแรกเป็นเลนส์มุมกว้างและชุดที่สองเป็นเลนส์เทเลโฟโต้เพื่อเก็บภาพให้มีระยะความชัดลึกที่ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นใน  iPhone 7   หรือ Huawei P9, P10 ที่ใช้เลนส์ชุดที่สองเก็บภาพแบบ Monochrome หรือภาพขาวดำ หรือถ่ายภาพจากทั้งสองเลนส์แล้วนำภาพที่ได้ไปรวมกันจะทำให้โทนสีของภาพมีการไล่โทนที่สวยงาม เป็นธรรมชาติมากขึ้น

  1. ระบบ Focus

ปัจจุบันระบบออโต้โฟกัสในกล้องสมาร์ทโฟนได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง มีระบบการทำงานเช่นเดียวกับที่ใช้ในกล้อง DSLR หรือ Mirrorless  สามารถโฟกัสได้รวดเร็วและแม่นยำ  และยังโฟกัสตามวัตถุเคลื่อนที่ได้ด้วย ทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดสูง  มีทั้งระบบโฟกัสด้วยเลเซอร์ ระบบ Phase Detection ระบบ Contrast Detection หรือเป็นแบบไฮบริดจ์ที่รวมเอาการทำงานของระบบโฟกัสหลายชนิดให้กล้องเลือกใช้งานให้เหมาะกับสถานการณ์การถ่ายภาพที่ใช้งานอยู่

  1. Software ที่ใช้

ปัจจุบันกล้องมือถือมีการพัฒนา Software ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองผู้ใช้งานให้ได้ดีขึ้น เช่น โหมดProที่ผู้ใช้สามารถปรับค่าต่างๆได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Speed shutter  , iso ฯลฯ หรือ โหมด AI ที่ช่วยขยายขีดความสามารถของกล้องมือถือได้อีกเยอะ เช่น การวิเคราะห์วัตถุและองค์ประกอบภาพ พร้อมกับปรับการตั้งค่าต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในตอนนี้คือ AI วิเคราะห์วัตถุของ Huawei Mate 10 Pro และระบบ AI Beauty บนกล้องหน้าของ OPPO F5 ฯลฯ

อ้างอิงจาก http://www.thaimobilecenter.com , https://www.fotoinfomag.com ,

Related Posts